วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ยุทธศาสตร์การศึกษา ใหม่

ประเทศไทยอาจถึงคราวที่จะต้องยกเครื่องแผนการศึกษากันครั้งใหม่ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบการศึกษาที่เราใช้อยู่นี้จะตามทัน การที่จะปรับระบบการศึกษาเสียใหม่นั้น เราควรที่จะวางแผนกันไว้ล่วงหน้า ในระยะยาวแผนการศึกษาควรวางไว้ต่ำกว่า 50 ปี และเราควรตั้งเป้าหมายที่สำคัญๆ ไว้ดังนี้
ประการที่หนึ่ง คือ ศักยภาพของประเทศในด้านการผลิตโดยมองจากทรัพยากร การที่เรามีพื้นฐานจากภาคการเกษตรมิได้หมายความว่า เรายกระดับเกษตรกรรมขึ้นมาสู่ภาคการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมไม่ได้ ในที่นี้หมายความว่า เรายกระดับเกษตรกรรมให้มีมิติการผลิตที่ผลผลิตสามารถแปรรูปไปในเชิงอุตสาหกรรมมิได้ทั้งหมด
ประการที่สอง ศักยภาพของคน เรามีจำนวนประชากรที่อยู่ในภาคแรงงานการเกษตรมาก ทรัพยากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ได้รับการศึกษา ซึ่งไม่ได้โยงไปถึงสิ่งที่เขาจะกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย ลูกหลานชาวนาไปเรียนรู้วิชาการไม่เกี่ยวกับการเกษตร แต่หากมีการเปลี่ยนเกษตรกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรก็จะมีวิชาเกิดใหม่ๆ ซึ่งแตกสาขาให้พวกลูกหลานของชาวนาได้เข้ามาเรียนรู้ได้ ประการที่สาม มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นหรือในต่างจังหวัดไม่จำเป็นต้องสอนหรือใช้หลักสูตรส่วนกลาง แต่อาจเป็นมหาวิทยาลัยเน้นการเกษตรหรือเทคโนโลยีการเกษตรหรือเทคโนโลยีทั่วๆ ไป และควรเน้นภูมิภาค เพื่อต่อยอดให้นักศึกษาในภูมิภาคเรียนรู้ เพื่อรับใช้ท้องถิ่น
ประการที่สี่ การเปิดงาน ว่าจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมให้กว้างขวางในท้องถิ่นโดยให้ประโยชน์ด้านภาษีกับบริษัทฯ ห้างร้าน และโรงงานทั้งนี้ให้มีเงื่อนไขว่าจ้างแรงงานท้องถิ่น และมีผู้บริหารมาจากคนในท้องถิ่นด้วย
ประการที่ห้า จัดเตรียมข้อมูลระดับประเทศถึงลักษณะจำแนกความแตกต่างทั้งด้านกายภาพ และความต้องการของแต่ละท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคโดยดูศักยภาพ และโอกาสที่ภูมิภาคเหล่านั้นจะเชื่อมโยงไปยังประเทศ เพื่อนบ้านจนตั้งเป็นเครือข่ายได้ การเตรียมข้อมูลก็ เพื่อรวบรวมสร้างฐานข้อมูลใหม่ เพื่อนำมาวางแผนยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อการศึกษาในอนาคต โดยฐานข้อมูลควรสามารถที่จะปรับปรุงเพิ่มเติมได้เรื่อยๆ เป็นรายปี และทุกปี ขั้นตอนการวางแผน จัดระบบประชาพิจารณ์ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาคขึ้นมาจนถึงระดับชาติ ทั้งนี้ต้องเริ่มให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรในทุกระดับ โดยมีการคัดเลือกนักเรียน, ครู, อาจารย์, มาช่วยให้ข้อมูล ในการวิพากษ์วิจารณ์ให้มีข้อเสนอแนะในการตัดบางวิชาออกใหม่ หรือเสริมวิชาเข้ามาใหม่ ให้มีการแบ่งวิชา ที่เป็นวิชาเชิงทฤษฎีกับวิชาเชิงปฏิบัติที่ชัดเจน และให้แบ่งวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตรออกมาต่างหาก รวมทั้งให้แยกวิชาเทคโนโลยี และการออกแบบ (ทุกรูปแบบ) ออกมาด้วย กำหนดให้วิชาด้านการเกษตรให้แยกสาขาออกมาให้มากที่สุด เช่น วิชาการศึกษาเรื่องพันธุ์ข้าวก็ควรเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น และควรมีหนังสือสำหรับเด็กออกมา นอกจากเรื่องพันธุ์ข้าวไทย, ข้าวต่างประเทศ การเพาะปลูก การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ ก็ควรเรียนรู้เรื่องการตลาดฯ การแข่งขัน การส่งออก ควบกันไปด้วย ขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อมีการประชาพิจารณ์ในระดับชาติแล้ว ควรนำกระบวนการเข้าสู่การประยุกต์ใช้ โดยในการนี้ให้ทางสถาบันราชภัฎฯ เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสถาบันดังกล่าวจะชี้แนะ และเสริมในการผลิตบุคลากรหรือ เพื่อทำการสอนในระดับโรงเรียนโดยเฉพาะในภูมิภาคให้เป็นไปตามแผน แผนยุทธศาสตร์ ก่อนจะวางยุทธศาสตร์ ควรนำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของประเทศต่างๆ มาศึกษาให้ละเอียดเสียก่อน ประเทศไทยควรวางตำแหน่งเด่นชัดว่าเราจะเป็นแหล่งผลิตอาหาร และแหล่งให้การศึกษาด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดในด้านเทคโนโลยีด้านอาหารของโลก นอกจากนี้เราต้องมีเป้าหมายว่าเราจะมีผู้เชี่ยวชาญ นักการศึกษา และนักวิจัยด้านอาหารมากที่สุด มีคุณภาพที่สุด ขณะเดียวกันไทยก็จะมีอุตสาหกรรมการผลิต และแปรรูปอาหารจากภาคการเกษตรที่มีคุณภาพ และก้าวหน้าโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ดีที่สุดด้วย ไทยยังมีเทคโนโลยี, การออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ล้ำหน้า การกำหนดเป้าหมายเช่นนี้ จะทำให้เราวางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาได้ล่วงหน้าไปหลายปี และย่อยหลักสูตรด้านการศึกษาออกมาแตกย่อยได้หลากหลายยิ่งขึ้น ที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะประเทศที่เขาก้าวหน้าเป็น เขาได้ทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะทุกประเทศใช้การศึกษาในการเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนคนทำให้เขาก้าวหน้า ประเทศของเขาพลิกโฉมหน้าทันสมัยยิ่งขึ้นครับ

........หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน.....

ไม่มีความคิดเห็น: